ถ้าเอ่ยชื่อ จังหวัดแพร่ ผมว่ามีไม่ถึง 50% ของนักท่องเที่ยว
ที่เคยไปสัมผัสหรือไปเที่ยวจังหวัดนี้มาแล้ว
ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เคยมีความคิดว่า จังหวัดนี้จะมีอะไรให้เที่ยวเหมือนจังหวัดอื่นบ้าง
ทั้งพระธาตุ หรือแพะเมืองผี เป็นสิ่งที่ผมอยากไปลองชมซักครั้งเหมือนกัน
แต่…ที่เที่ยวมีแค่นั้นจิงหรอ ?
ผมได้ลองชวนเพื่อนๆ The Gang กันว่า “เราไปหาที่ปั่นจักรยานชิวๆกันดีมั้ย” ที่ไหนดี…
แว่บแรกที่นึกขึ้นมาคือ “แพร่” เพราะอะไรน่ะหรอ
เพราะยังไม่เคยไป บวกกับมีคนรู้จักอยู่ที่นั่นด้วยคงเที่ยวได้แบบสบายชิวๆ
พร้อมกันหรือยังครับ ผมจะพาเพื่อนๆ ไปปั่นจักรยานที่แพร่
เราจะ “ปั่นเปลี่ยนแป้ ให้แพร่เป็นเมืองในฝัน”
เป็นจังหวัดที่ใครหลายๆคนต่างอิจฉาพวกผมที่มาเที่ยวที่นี่เลยครับ
*** รีวิวนี้ทั้งภาพและเนื้อหา ผมได้เดินทางไปมาเมื่อปี 2556 แล้วได้นำมารีรันใหม่ ***
จุดเริ่มต้นของการเดินทาง คราวนี้ผมไปกับเพื่อนด้วยกันทั้งหมด 3 คน
และที่พิเศษกว่าคราวอื่น คือไปโดยรถไฟ ปรู๊นๆๆ !!!
เดินทางคืนวันพฤหัส การที่จะไปลงแพร่นั้นต้องนั่งรถไฟไปลง “เด่นชัย”
รถไฟไม่ถึงตัวเมืองนะครับ โดยขบวนที่ผมนั่งนี้ปลายทางอยู่ที่เชียงใหม่
ซึ่งมีฝรั่งเต็มโบกี้เลย มีผมกับเพื่อนเท่านั้น ที่เป็นคนไทย ^^
และจุดนัดพบ คือที่นี่…หัวลำโพง
วันที่เดินทาง กทม มีฝนตกช่วงเย็น การเดินทางมาหัวลำโพงของเพื่อนผมค่อนข้างลำบากมาก
เพราะมีเจ้าจักรยานคันนี้ที่พับได้มาด้วย ใช่ครับ เราได้นำจักรยานไปคันนึง
ส่วนอีก 2 คันไว้ลุ้นเอาข้างหน้าที่แพร่ จักรยานพับได้ พับให้เรียบร้อยแล้วยกขึ้นรถไฟได้เลย
แต่ถ้าจักรยานคันใหญ่เหมือนว่าต้องไปทำเรื่องเอกสาร
ขอให้นำจักรยานขึ้นไปบนรถไฟด้วยนะครับ ยังไงถ้าใครจะเดินทางแล้วนำจักรยานไปด้วย
ติดต่อสอบถามก่อนซื้อตั๋วเพื่อความชัวร์ดีกว่านะครับ
ระหว่างทางมีฝนตกเกือบตลอด ได้บรรยากาศชิวสมใจแน่นอน
ตามกำหนดการ ใช้เวลาเดินทางจาก กทม มาถึง เด่นชัยประมาณ 9 ชม (โดยรถไฟ)
แต่ว่าเลทนิดหน่อย เลทไปอีกประมาณ 2 ชม ครับ ทริปนี้ ^^
ถึงแล้วครับจุดหมายปลายทางของพวกเรา เด่นชัย
บรรยากาศดีจริงๆ ลมเย็นๆ ฝนเพิ่งหยุดตกไปด้วยชุ่มฉ่ำ สบายๆดี
ช่วงเช้า 6.30 แบบนี้ มีคนมารอรถไฟกันเยอะแล้วนะครับ
สถานีรถไฟเด่นชัยเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของแพร่เลยก็ว่าได้ เพราะจะอยู่ใกล้ตัวเมืองแพร่มากที่สุด
และเป็นสถานีที่เชื่อมต่อไปสายเหนืออย่างเชียงใหม่อีกด้วย
เหล่าสมาชิกพร้อม เพื่อนๆพร้อม ผมพร้อม กล้องพร้อม จักรยานพร้อม
การเดินทางของพวกเราได้เริ่มต้นขึ้นแล้วว
ออกมาด้านหน้าสถานีรถไฟจะมีบริการรถสองแถวอยู่ด้านหน้า
เพียงแค่บอกจุดหมายปลายทาง ราคาที่นี่ไม่ต้องเหมา คนละ 40 บาท เข้าตัวเมืองแพร่ครับ
จักรยาน เอาไว้บนหลังคารถสองแถว คุณลุงใจดีมากมาย บริการเต็มที่จริงๆ
ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม จากสถานีรถไฟเด่นชัยมาถึงตัวเมืองแพร่
บรรยากาศเหมือนเหมามาเลยนะครับ เพราะทั้งคันรถมีผมกับเพื่อนรวม 3 คน เท่านั้น
มาถึงก็เข้าไปเช็คอินโรงแรมที่พักคืนกันก่อน ภูมิไทยการ์เด้น
Lobby กว้างขวาง ลานจอดรถมีที่ให้จอดรถได้หลายคัน แล้วจักรยานผมหล่ะจอดที่ไหน
ก็จอดแอบๆข้างโรงแรม ไม่ได้เอาโซ่ล็อกมาซะด้วย ได้แต่ภาวนาในใจว่าอย่าให้หายละกัน เพี้ยง!!!
มีสวนเล็กๆของทางโรงแรมด้วยครับ เขียวชะอุ่มดีจังเลย
ห้องพักสะอาด ไม่ได้คับแคบจนเกินไป มี 2 เตียงใหญ่มาตรฐาน
และ 1 เตียงเสริม ยังมีพื้นที่เดินได้สบายครับ แต่ไฟที่ห้องนี้จะเป็นสีส้มๆ ไม่ค่อยสว่างเท่าไร
ข้อมูลเตรียมมาอย่างดี มีแค่เบอร์โทรของเจ้าถิ่น เบอร์รุ่นน้องตอนเรียนมหาลัยครับ
พอถึงแพร่ปุ๊บ ก็โทรถามปั๊บ ทานข้าวเช้าที่ไหนดี น้องแนะนำมาหลายที่ แต่ผมมาหยุดที่ร้านนี้
ร้านเจ๊ศรี โจ๊กประตูชัย ฝั่งตรงข้ามตลาดสดเทศบาลครับ
จักรยาน 1 คัน เพื่อนผมขี่มา ส่วนอีก 2 คน เดินครับเดิน ><
ระยะทางไกลพอได้ แต่อากาศเย็น ไม่กลัวอยู่แล้ววววว ^^
เริ่มต้นที่ต้มเลือดหมูใส่ไข่ มาพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ… ฟินตั้งแต่แรกเริ่มเลยครับ
ทานข้าวเช้าเพิ่มพลังกันเรียบร้อยแล้ว ผมได้ข้อมูลมาว่าที่เมืองแพร่นี้มีจักรยานให้ยืมฟรีไม่เสียเงิน
เป็นของเทศบาลเมือง จากตลาดสดเทศบาลเดินมาเทศบาลเมืองไม่ไกล
มาที่อาคาร 2 เลยครับ มีแค่บัตรประชาชนเท่านั้นก็สามารถยืมจักรยานไปขี่เล่นในตัวเมืองได้
จักรยานเป็นสไตล์แม่บ้านซักหน่อยแต่รับรองว่าทุกคันปลอดภัยดี
เพราะก่อนยืมเจ้าหน้าที่มาเช็คให้ ทั้งเติมลมยาง เช็คเบรก นี่ขนาดยืมฟรี ยังใจดีขนาดนี้ ปลื้มๆๆ
จักรยานที่ยืมของเทศบาลเมืองนั้น ยืมแล้วต้องคืนภายในวัน เพราะเค้ากลัวหายไม่มีโซ่ล็อก
คนพร้อม จักรยาน 3 คัน พร้อม จากนี้ผมจะปั่นไปรีวิวไป เอ้ย ปั่นไปเที่ยวที่ต่างๆในเมืองแพร่ไป
อีกจุดสังเกตนึงคือ ที่นี่มีเลนส์จักรยานที่ใช้ทางเท้าทำแบ่งไว้ด้วยนะครับ มีหลายที่ในตัวเมืองเลย
มีอยู่ตามถนนหลายเส้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่จักรยานทั่วไป
รถในตัวเมืองแพร่นี้ค่อนข้างน้อย ถึงแม้จะเป็นวันศุกร์ วันทำงานปกติทั่วไปก็ตาม
ต่างกับการใช้ชีวิตคนเมืองใน กทม มากนัก ที่ทุกเช้าต้องมีการแข่งขันกันทั้งขึ้นรถลงเรือต่างๆ
แต่ที่นี่ ไม่มีแบบนั้นให้เห็น 10 โมงกว่า ก็ยังเงียบเหมือนตอนเช้าๆ
จนผมคิดว่า วันนี้เป็นวันหยุดประจำจังหวัดของที่นี่หรือเปล่าเนี่ย
ทานคาวเสร็จต้องทานหวาน นี่เป็นหนึ่งในร้านเค้กที่น้องผมแนะนำมาครับ “เฌอบาร์ – Je Bar”
ร้านมี 2 โซน ทั้งด้านใน และริมด้านนอก ได้หลายบรรยากาศ จากเทศบาลเมืองมาไม่ไกล
มีหลากหลายเมนูให้เลือก อร่อยยามเช้า
(เพิ่งปั่นไปได้ไม่กี่เมตรก็พักซะและ ^^)
ซอยข้างๆของร้านเฌอร์บาร์ มีหนึ่งวัดที่น่าสนใจ
“วัดพงษ์สุนันท์” วัดที่มีการออกแบบได้อย่างสวยงาม
วัดพงษ์สุนันท์
ตั้งอยู่ใกล้กับวัดหลวง บนถนนคำลือ เดิมชื่อวัดปงสนุก ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดย
พระยาบุรีรัตน์และทายาทวงศ์บุรี โดยลำดับ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ชื่อว่า พระเจ้าแสนสุข มีอายุราว 568 ปี เสนาสนะภายในบริเวณวัด มีพระนอนสีทองอร่าม
ซุ้มประตูมงคล 19 ยอด และเจดีย์บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่ และวัตถุมงคลต่างๆ
เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ผู้มากราบสักการบูชา
ออกจากวัดพงษ์สุนันท์ ไม่ไกลจากนี้เป็นอีก 1 วัดที่มีชื่อเสียงของที่นี่ “วัดหลวง”
วัดหลวง
เป็นโบราณสถานของชาติที่มี อายุเก่าแก่ นับพันปี แม้ว่าวัดหลวงจะเป็นวัดที่มีประวัติการก่อสร้างมานาน
ทว่าสภาพปัจจุบันของวัดยังสมบูรณ์มาก วิหารด้านในมี พระเจ้าแสนหลวง
พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับนั่งปางสมาธิ สร้างโดยศิลปะล้านนาผสมกับสุโขทัย
สภาพวิหารหลวงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เนื่องจากได้รับ การบูรณะปฏิสังขรณ์มาตลอด
ด้านหลังของวิหารเป็นที่ตั้งของพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี
วัดหลวง มีประตูวัดที่เก่าแก่ เรียกว่า “ประตูโขง”ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของเจ้าเมืองแพร่
และสิ่งที่น่าสนใจในวัดหลวง คือ คุ้มพระลอ ซึ่งเป็นบ้านไม้หลัง กะทัดรัด
ตั้งอยู่ใกล้กับหอวัฒนธรรมเมืองแพร่ ด้านล่างของคุ้ม มีเครื่องทอผ้าและล้อเกวียนเก่าจำนวนหนึ่ง
ชั้นบนเป็นที่เก็บของโบราณ เช่น เตารีดสมัยโบราณแบบใช้ถ่าน เครื่องทอฝ้าย ร่มโบราณ ไม้แกะ สลัก ฯลฯ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมพาไปเข้าวัดมา 2 วัด ร้านเค้ก 1 ร้าน
สถานที่ต่อไปที่อยู่ใกล้กับวัดหลวงเลยคือ บ้านวงศ์บุรี สถานที่ที่ใช้ถ่ายละครมาหลายเรื่อง
บ้านวงศ์บุรี หรือ คุ้มวงศ์บุรี
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 – 17.00
โดยมีค่าเข้าชมคนละ 30 บาท ครับ แต่บอกเลยนะว่าคุ้มมากกับ 30 บาทที่จ่ายไป
คุ้มวงศ์บุรี เป็นคุ้มเจ้านายเมืองแพร่ในอดีต ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าฟ้าชายสาม จุฬามณีศิริเมฆภูมินทร์
แห่งเชียงตุง “ราชวงศ์มังราย” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440
ตามดำริของเจ้าแม่บัวถา ชายาองค์แรก ของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่
โดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งมาควบคุมการก่อสร้างร่วมกับช่างชาวไทยพื้นบ้าน
เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรม เรือนขนมปังขิงตามความนิยมกันในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5
ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี
จุดเด่นของคุ้มวงศ์บุรีนี้นอกจากรูปแบบอันแปลกตาแล้วยังมีสีหวาน เป็นสีชมพู ดูสบายตา
คุ้มวงศ์บุรีได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆและเป็นสถานที่ถ่ายทำละคร หนังสือ สารคดีท่องเที่ยวต่างๆ
ที่นี่มีพื้นที่ที่อนุรักษ์ของเก่าแก่อยู่ทั่วบ้าน บางพื้นที่ให้ถ่ายรูปได้ แต่บางพื้นที่ห้ามถ่ายรูป
จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้อยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งอธิบายถึงที่ไปที่มาทั้งหมดนี้ด้วย
บ้านคุ้มวงศ์บุรี ยังให้เช่าเป็นสถานที่ประกอบงานต่างๆทั้งการจัดงานแต่งงานแบบล้านนา
การรับประทานอาหารพื้นเมืองล้อมสะโตก เป็นต้น
ตอนผมเดินออกมาได้มีกลุ่มน้องๆมาทัศนศึกษากันที่นี่ด้วยครับ
ชาวบ้านละแวกนั้นน่ารักมากครับ พวกผมปั่นจักรยานเขาก็ทักสวัสดีกันเกือบทุกหลัง
เห็นแล้วยิ้มครับบรรยากาศสบายๆชิวๆเป็นมิตร ชื่นใจจุงเบย
ระหว่างทางไปบ้านประทับใจ จุดหมายต่อไปของพวกเรา
มีต้นไม้ใหญ่ๆให้ถ่ายรูปกัน ดูร่มรื่น สบายตาสุดๆ
ถึงแล้วครับบ้านประทับใจ ทางค่อนข้าง งง แต่ก็ยังดีที่มีป้ายบอกทางมาเรื่อยๆ
บ้านประทับใจ
สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง โดยใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่
ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง
ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00
อัตราค่าเข้าชมคนละ 20 บาท
ด้านในมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ไม้ทุกต้นเงางามสวยงามมากครับ
ทั้งพื้น เสา ทุกอย่างเป็นไม้ทั้งหมด หาดูยากมากบ้านแบบนี้ใน กทม เห็นอีกทีตามพิพิธภัณฑ์
คุ้มเจ้าหลวง
สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2435 หลังจากเจ้าหลวงเมืองแพร่ คือ เจ้าพิริยเทพวงศ์
ได้ลี้ภัยไปอยู่เมืองหลวงพระบางแล้ว คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ได้กลายเป็นที่ตั้งของกองทหารม้าที่ทางกรุงเทพฯ
ได้ส่งมารักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองแพร่อยู่ระยะหนึ่ง
บริเวณที่ตั้งของคุ้มเจ้าหลวงมีอาณาเขตครอบคลุมถึงที่ตั้งของห้องสมุดประชาชนจังหวัด แพร่
องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้ทำการปรับปรุงภายในพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง”
และตกแต่งสภาพภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงาม พร้อมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่
ขององค์การบริหารส่วน จังหวัดแพร่ได้ดูแล
คุ้มเจ้าหลวง มีรูปทรงอาคารเป็นแบบไทยผสมยุโรป หรือที่เรียกว่าแบบขนมปังขิง
มีความหรูหรา สง่างามและโอ่โถงมาก เป็นฝีมือช่างชาวจีนและช่างพื้นบ้าน
ใต้ถุนอาคารมีห้องสำหรับควบคุมข้าทาสของเจ้าหลวงฯ ที่กระทำผิด
ส่วนบริเวณชั้น 2 ของคุ้มเป็นที่ประดิษฐ์ฐานของพระบรมสารีริกธาตุ
เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้สักการะบูชา
วัดที่ติดถนนใหญ่ ใจกลางเมืองและเป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของแพร่เลยก็ว่าได้
วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง อำเภอเมืองแพร่ แต่เดิมนั้นเป็นวัดราษฎร์ต่อมาในปี พ.ศ. 2498
ได้ยกฐานะ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ประเภทวรวิหาร วัดพระบาทมิ่งเมืองมาจากสองวัดรวมกัน
ได้แก่ วัดพระบาท และวัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ห่างกันเพียงมีถนนกั้นเท่านั้น
วัดพระบาทเป็นวัดของอุปราชหรือเจ้าหอหน้า ส่วนวัดมิ่งเมืองเป็นวัดของเจ้าผู้ครองนครแพร่
เมื่อเมืองแพร่ล้มเลิกระบบเจ้าผู้ครองนคร วัดทั้งสองก็ถูกทอดทิ้งอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก กระทั่ง
คณะกรรมการจังหวัดเห็นสมควรรวมสองวัดเข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า วัดพระบาทมิ่งเมือง มาจนทุกวัน
ปัจจุบันวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่
และยังมีพระเจดีย์มิ่งเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ภายใน
พระธาตุมิ่งเมือง (พระเจดีย์) โบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองแพร่
ไหว้พระเสร็จ ผมกับเพื่อนๆมีแผนกันว่าจะไปจองตั๋วรถทัวร์เพื่อเข้าไปเชียงใหม่
ต้องบอกก่อนว่าขามาเรามาโดยรถไฟ แต่ขากลับเราจองตั๋วเครื่องบินซึ่งขึ้นที่เชียงใหม่ไว้
เพราะกะจะไปเที่ยวต่อ ผมเลยเลือกไปขึ้นเครื่องบินที่เชียงใหม่เพื่อเดินทางกลับ กทม
ระหว่างทางปั่นไป บขส. แพร่ ได้ผ่านคูเมือง บรรยากาศรอบๆดูเงียบสงบอีกเช่นเคย
ผมเห็นถึงความต่างอย่างนึงของจังหวัดแพร่ที่ไม่เหมือนใครคือการรณรงค์ให้คนในจังหวัด
สวมเสื้อผ้าที่เป็นหม้อฮ่อมทุกวันศุกร์ ใครได้ไปแพร่ตรงกับวันศุกร์ จะเห็นแต่ละคน
ใส่เสื้อผ้าหม้อฮ่อมกันหมด ทั้งเด็กนักเรียน ข้าราชการ พนักงานทั่วไป
ผมว่าเป็นนโยบายที่ดีที่จะช่วยกันอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองของแพรให้อยู่คู่จังหวัดตลอดไปครับ
จิบชากาแฟยามบ่าย ร้านริมทางข้างถนนแต่การตกแต่งที่ดูเรียบง่ายได้ดึงดูดให้ผมกับเพื่อนๆ
เข้าไปจิบไปชิมไปนั่งพักที่นี่อยู่พักนึง
ร้านเคียงคู่กาแฟสด ร้านนี้ไม่มีเค้กนะครับ มีแต่ชากาแฟให้จิบๆกัน ^^
ซื้อตั๋วรถทัวร์ที่ บขส เรียบร้อยก็ปั่นกลับไปที่พักที่โรงแรมกันก่อน
วันนี้เหนื่อยมาทั้งวันแล้วครับ มาอาบน้ำให้เรียบร้อยแล้วตอนเย็นจะออกไปหาอะไรทานแถวตลาดกันต่อ
ระหว่างโรงแรมกับเทศบาลเมืองค่อนข้างห่างกันพอสมควร รุ่นน้องผมเลยอาสาขับรถมารับ
และไปทานข้าวเย็นด้วยกัน โชคดีมากครับที่ไม่ต้องเดินไกล ^^
ผมเห็นที่ตลาดนัดมีของขาย และที่เห็นแล้วสะดุดตาอีกอย่างคือ โต๊ะ (ขันโตก)
ที่มีการเตรียมให้สำหรับคนที่ทานแถวนั้น จะนั่งทานเป็นกลุ่ม หรือทานเดี่ยว จะมีตั้งอยู่หลายตัว
พร้อมปูเสื่อ ฟินเลยครับ บรรยากาศแบบนี้ที่หาได้ยากเหลือเกิน
มื้อเย็นวันนี้เราจะมาทานที่บริเวณประตูชัย
ใกล้กับตลาดสดเทศบาล จะมีวงเวียนและเป็นเนินเล็กๆอยู่ บริเวณนั้นมีของขายอยู่มากมาย
บริเวณนี้มีของขายหลายอย่างทั้งลูกชิ้นปิ้ง ผัดไทย เย็นตาโฟ ที่คนคับคั่งมาก
หรือจะเป็นของหวาน ซาหริ่ม นมสด พูดง่ายๆเลยมาถึงแถวนี้ยังไงก็ได้ของทานไปแน่นอน ^^
หอยทอด ผัดไทย ของหวานซาหริ่มแห้งมีไอติมประกบด้วยนะครับ แปลกดี
ตื่นตอนเช้า แผนวันนี้รุ่นน้องผมจะพาไปไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองของแพร่ และอีกหลายสถานที่ในตัวเมือง
ซึ่งไม่ได้ปั่นจักรยานไปครับ เริ่มต้นของวันด้วยการไป วัดพระธาตุช่อแฮ
ใครๆก็บอกผมว่าถ้ามาแพร่แล้วไม่ได้มาสถานที่นี้เหมือนมาไม่ถึง
วัดพระธาตุช่อแฮ
เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิด ปีขาล ตั้งอยู่อำเภอเมือง
ใครที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า
“ถ้ามาเที่ยวแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่”
การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่
ผ่านสนามบินจังหวัดแพร่ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่ บางคนก็ปั่นจักรยานมา
แต่ผมขอติดรถรุ่นน้องผมมาเที่ยวนะครับ กลัวน็อกก่อน ><
วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูง
องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก ยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา
มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู
แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม
ลองเดินไปตรงซุ้มประตู จะมีบันไดยาว ยาวมองทอดลงมา เห็นบรรยากาศธรรมชาติสดชื่น
เลยจากวัดพระธาตุช่อแฮมาประมาณ 1 กม. ตามทางมีป้ายบอกทางอยู่ตลอด
อีกหนึ่งวัดพระธาตุที่มีบรรยากาศดี เงียบสงบ วัดพระธาตุจอมแจ้ง
วัดพระธาตุจอมแจ้ง
สร้างเมื่อ พ.ศ. 1331 ตั้งบนเนินเขาเตี้ย รูปทรงพระธาตุคล้ายกับพระธาตุช่อแฮ
เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า
พระธาตุจอมแจ้งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มศิลปผสมระหว่างสุโขทัยกับศิลปเวียงโกศัย
ยังอยู่ในลักษณะค่อนสมบูรณ์ นอกจากองค์พระธาตุจอมแจ้งแล้ว ยังมีพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่
ปางพระนาคปรกประดิษฐานอยู่คู่กับองค์พระธาตุ
มีพระนอนปางไสยาสน์องค์ขนาดใหญ่ ในสวนลานปฎิบัติธรรม
ภายในวิหารมีหลวงพ่อจอมแจ้งซึ่งมีอายุประมาณ 600 กว่าปี เป็นพระประธาน
ด้านหลังมีองค์พระธาตุอันเก่าแก่อีกองค์หนึ่งซึ่งไม่ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์
ยังคงไว้ในรูปแบบของการก่อสร้างด้วยอิฐ และมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของโบราณของวัด
มีรูปปั้นแสดงรูปสวรรค์ นรก จำลองเพื่อเตือนให้คนทำดีละเว้นความชั่ว
วัดนี้ค่อนข้างสงบ ตอนผมไปไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเท่าไร ทั้งที่ห่างจากวัดพระธาตุช่อแฮ 1 กม.
ถ้าใครได้มาไหว้พระธาตุช่อแฮ ผมแนะนำลองแวะมาที่วัดพระธาตุจอมแจ้งนี้ดูด้วยครับ
แล้วจะติดใจในศิลปะ ความงามแฝงไปด้วยความสงบเงียบอันสวยงาม
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญและขึ้นชื่อ เป็นทั้งชื่อสถานที่ในคำขวัญของจังหวัดแพร่อีกด้วย คือ
วนอุทยานแพะเมืองผี จากวัดพระธาตุช่อแฮประมาณ 16 กม.
วนอุทยานแพะเมืองผี
แพะเมืองผี อยู่บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เกิดจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นดิน และ หินทราย
ถูกกัดเซาะตามธรรมชาติ เป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ เช่น ดอกเห็ด หน้าผา ดูแล้วแปลกตา
ชื่อแพะเมืองผี มาจากภาษาพื้นเมือง แพะ แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า เมืองผี แปลว่า เงียบเหงา วังเวง
อาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัว
ถ้ามาเที่ยวแพะเมืองผีช่วงหน้าร้อนคงร้อนน่าดู แต่ตอนผมมาไม่ร้อนแต่ฟ้าไม่สวย
ที่นี่มีที่ให้ถ่ายรูปมาก ทำท่าทางแปลกๆ เดินได้ทั่ว ไม่ต้องปั่นจักรยานขึ้นไปนะครับ ^^
หรือจะเดินขึ้นไปถึงด้านบน ซึ่งไม่ไกลเท่าไรนัก จะเห็นวิวมุมสูงจากด้านบน ได้กว้างขวาง
จุดหมายต่อไปของพวกเราคือ
ชุมชนผ้าหม้อห้อม
หม้อห้อม เป็นชื่อเรียกเสื้อคอกลม แขนสั้น ผ่าอกตลอด มักย้อมสีนํ้าเงินเข้มหรือดำ
เขียนเป็น “ม่อห้อม” หรือ “ม่อฮ่อม” ก็มี
หม้อห้อมเป็นเครื่องแต่งกายพื้นบ้าน ปัจจุบันทางจังหวัดแพร่ร่วมกันอนุรักษ์โดยให้ทุกวันศุกร์
ให้ทุกคนแต่งกายด้วยผ้าหม้อห้อมนี้กันด้วย
ชุมชนแถวนี้เหมาะสำหรับมาซื้อของฝากติดไม้ติดมือใครหลายๆคนได้ดีทีเดียว
การย้อมผ้าหม้อห้อม
น้ำที่ใช้ย้อมได้มาจากการนำต้นห้อมมาหมักในน้ำ จนใบห้อมเน่า ได้น้ำสีเขียวไข่กามีกลิ่นเหม็น
จากนั้นนำใบห้อมที่เน่าแล้วทิ้งไป และนำใบห้อมใหม่มาหมักในน้ำเดิมจนเน่าเหม็นเข้มข้นขึ้น
ได้น้ำห้อมสีฟ้า จากนั้นกรองกากห้อมทิ้งไปเหลือแต่น้ำ เมื่อนำน้ำที่ได้ไปหมักกับปูนขาว กวนให้ขึ้นฟอง
เมื่อน้ำทำปฏิกิริยากับอากาศ จะได้น้ำสีน้ำเงินเข้มหรือสีคราม กรองเอาแต่น้ำสี
ใส่ในหม้อดินใบใหญ่จึงเรียกว่า “หม้อห้อม”
การย้อมผ้าหรือเส้นด้าย ให้เป็นสีหม้อห้อม จะต้องย้อมหลายๆ ครั้ง
โดยผสมขมิ้น ฝักส้มป่อยเผา หรือน้ำมะขามเปียก และน้ำด่าง
ที่ได้จากการเกรอะขี้เถ้าและเหล้าป่า หรือน้ำอ้อย
ผ้าหม้อห้อมเมื่อใช้งานไปนาน ๆ สีจะซีดลง และต้องนำกลับมาย้อมใหม่อยู่เสมอ
ซึ่งต่างจากผ้าสีครามที่ได้จากการย้อมด้วยสีสังเคราะห์ทางเคมี ซึ่งสีจะไม่ซีด เมื่อผ่านการซักล้าง
ต้องขอบคุณป้าเหลืองที่ให้คำแนะนำในเรื่องของผ้าหม้อห้อม รวมถึงโชว์การย้อมผ้าให้ดูอีกด้วยนะครับ
เห็นลายของผ้าอันสวยงามแล้ว มาดูเบื้องหลังความสวยงามของผ้าแต่ละผืน
ที่บรรจงลายออกมาได้อย่างสวยงาม
โดยใช้น้ำเทียนเขียนลายลงไปและรอให้แห้งซักหน่อย จากนั้นก็นำไปย้อมสีได้เลยครับ
ขากลับจากชุมชนหม้อห้อม ผมกับเพื่อนๆได้แวะ วัดจอมสวรรค์
ซึ่งอยู่ระหว่างทางจากโรงแรมที่พักไปชุมชนหม้อห้อม
วัดจอมสวรรค์
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จองนันต่ำ คหบดีขาวไทยใหญ่ที่เข้ามาค้าขายในเมืองแพร่
ได้รวบรวมชาวไทยใหญ่ช่วยกันก่อสร้างศาสนสถานที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบพม่า
คือ สร้างด้วยไม้สักตกแต่งด้วยการฉลุไม้ ประดับกระจกสี
ภายในวัด ประดิษฐานหลวงพ่อสาน คือพระพุทธรูปที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วลงรักปิดทอง
วัดสระบ่อแก้ว
สร้างขึ้นสมัยเดียวกับวัดจอมสวรรค์ เดิมชื่อ วัดจองกลาง เป็นวัดศิลปะแบบพม่าที่สวยงาม
ทั้งศาลาการเปรียญ โบสถ์ และเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินอ่อนทรงเครื่องแบบพม่า
สร้างอย่างสวยงามวิจิตรพิสดาร วัดแห่งนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์พม่า
ที่เดินทางเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศไทยอีกด้วย
ไหว้พระเสร็จนั่งพักชิลๆ ไม่รีบไม่ร้อน เพราะจุดหมายปลายทางในวันนี้ คือ ถนนคนเดิม
หรือที่มีชื่อเรียกว่า กาดกองเก่า ไป ไป ต๊ะ ไปแอ่วกาดกองเก่ากันฮะเจ้า…
กาดกองเก่า เป็นย่านถนนคนเดินทุกวันเสาร์ เป็นทางเดินยาวต่อไปถึงกาดพระนอน
เปิดทุกวันเสาร์ เวลา 15.00 – 20.30
มีของหลายอย่าง ทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก และของเล่น เห็นจนตาลาย
ถึงแม้กาดนี้คนจะดูน้อยกว่ากาดใหญ่ที่ปกติมีเดือนละครั้ง แต่ของต่างๆที่มาขาย
ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลยครับ
ยังไม่จบๆ ผู้คนที่มาเดินที่นี่ล้วนมีความสุข ดูจากสีหน้าของแต่ละคนได้
มาเหนือทั้งทีก็อดไม่ได้ สำหรับร้านที่ขึ้นชื่อ ตั้งอยู่บริเวณแยกประตูชัย ข้าวซอยเจ๊เล็ก
สีสัน รสชาติ น่าทานและอร่อยดีครับ
รุ่งเช้า ผมได้ check out ออกจากที่โรงแรมก่อน และเดินข้ามถนนเพื่อไปยัง บขส.
จากแพร่ไปเชียงใหม่ รถทัวร์ใช้เวลาวิ่งประมาณ 4-5 ชม
พอมาถึงตัวเมืองเชียงใหม่ก็ได้เหมารถ ตุ๊กตุ๊ก เพื่อที่ไปสนามบิน
และการจะเอาจักรยานพับขึ้นเครื่องได้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
1. ปล่อยลมยางของล้อทั้ง 2 ข้าง
2. ควรนำพลาสติกมาคลุมจักรยานให้ทั่ว ดังรูปด้านล่าง
เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่างๆ เราควรปฎิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเราไว้ดีกว่า
ในเรื่องของลมยางที่เราต้องปล่อยน่าจะเกี่ยวข้องกับแรงดันอากาศขณะอยู่ที่สูง
ส่วนเรื่องของการ wrap พลาสติกทั้งคัน คงเป็นเพราะกันการกระแทกและการเสียหายระดับหนึ่ง
ปิดท้ายรีวิวเที่ยวเมืองแพร่ด้วยภาพพาโนราม่าบริเวณวนอุทยานแพะเมืองผี
ขอขอบคุณชาวเมืองแพร่ที่นิ้มแย้ม มีอัธยาศัยดี ต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดเวลา
ขอบคุณรุ่นน้องของผมที่พาเที่ยว พากิน และช่วยเหลือต่างๆ
ขอบคุณเพื่อนทั้ง 2 ที่แบกจักรยานขึ้นรถไฟและกลับเครื่องบิน
ผมหวังว่าซักวันนึง ที่นี่จะไม่ใช่เมืองที่ถูกมองข้าม ที่นี่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีเมืองหนึ่ง
สามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
TAT Call Center 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ www.tourismthailand.org
ใครมีคำถามสงสัยตรงไหน สามารถสอบถามได้ทาง blog รีวิวนี้
หรือในเพจของผมก็ได้ http://www.facebook.com/Nejuphoto
ขอบคุณทุกท่านที่ตามอ่านกระทู้รีวิวนี้จนจบ… ^^