ยุคสมัยแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
อดีต…มีสถานที่ และประวัติให้นักท่องเที่ยวยุคนี้ได้ศึกษา ได้ท่องเที่ยว
ปัจจุบัน…มีสถานที่ ที่สร้างเพื่อให้อดีตยังเป็นความทรงจำอยู่ ไม่ลืมกันไป
ยุคสมัยมาบรรจบกัน ในความลงตัวที่ผสมผสานด้วยกลิ่นอายของสถานที่
ของเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของปราสาท…“บุรีรัมย์ เมืองปราสาท 2 ยุค ที่ห้ามพลาด”
ยุคอดีต
บุรีรัมย์ เป็นเมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนในท้องถิ่น
และเป็นเมืองที่น่ามาเยือนสำหรับคนต่างถิ่น เมืองปราสาทหินในเขตจังหวัดบุรีรัมย์มากมีไปด้วย
ปราสาทหินใหญ่น้อย อันหมายถึงความรุ่งเรืองมาแต่อดีต จากการศึกษาของนักโบราณคดี
พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทราวดี และ
ที่สำคัญที่สุดพบกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดบุรีรัมย์มากคือ หลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ
ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐ และปราสาทหินเป็นจำนวนมากกว่า 60 แห่ง
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ปราสาทหินทรายสีชมพู ที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิท
เพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ณ ปราสาทพนมรุ้งนี้จะเกิดปรากฏการณ์
อันน่ามหัศจรรย์คือ ปรากฏการณ์พระอาทิตย์สาดส่องลอด 15 ช่องประตู โดยจะมีพระอาทิตย์ขึ้น
เดือนเมษายนและเดือนกันยายน และพระอาทิตย์ตกเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม
เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) เป็นระยะทางประมาณ 50 กม.
จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก
ประมาณ 14 กม. แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
อีกประมาณ 12 กม. ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ชื่อ “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่
โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทพนมรุ้ง และยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ
“นเรนทราทิตย์” เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระผู้เกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ผู้สร้างปราสาทนครวัด อันเลืองชื่อของประเทศกัมพูชา
กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์ปราสาทพนมรุ้ง โดยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทพนมรุ้ง
และได้ดำเนินการบูรณะปราสาทระหว่าง พ.ศ. 2514 – 2531
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราคุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก จนได้มีผู้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์
ที่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือพระยาอนันตนาคราช
ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทรมีก้านดอกบัวผุดขึ้น
จากพระนาภีของพระองค์ มีพระพรหมประอยู่เหนือดอกบัวนั้น
การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์นั้น คือ การบรรทมในช่วงการสร้างโลก
การบรรทมแต่ละครั้งนั้น จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์
ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้ คงได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์วราหปุราณะ
เป็นคัมภีร์ที่ให้ความสำคัญแก่ พระนารายณ์เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ในขณะที่พระนารายณ์กำลังบรรทมอยู่นั้น
ได้ทรงสุบินขึ้นจากพระนาภี บนดอกบัวได้บังเกิดพระพรหม และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่างๆ
ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด
ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป
เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น
โคนนทิ เป็นประติมากรรมวัว ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของปราสาทประธานเคียงข้างกับศิวลึงค์
โคนนทิ คือ พาหนะของพระศิวะ โคนนทิเป็นบุตรของพระกัศยปกับโคสุรภี
พระศิวะเห็นโคสุรภีก็อยากจะได้เป็นบริวารแต่รังเกียจว่าเป็นเพศเมีย พระกัศยปจึงอาสาผสมพันธุ์กับโคสุรภี
จึงให้กำเนิดเป็นวัวเพศผู้ชื่อว่า “นนทิ” แล้วถวายเป็นบริวารของพระศิวะ
ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมานบนเขาไกรลาสด้านทิศตะวันออกคู่กับมหากาลและ
ทำหน้าที่เป็นเทพพาหนะเมื่อพระศิวะเสด็จออกภายนอก
ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน
มีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย จากหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่า
ปราสาททั้งสามหลังได้สร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตามลำดับ
ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีอาคารสองหลังก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา
ก่อสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18
ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป
คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบน
และ ด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุน
ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างโดย นเรนทราทิตย์
ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง
สถานที่แห่งนี้คือสิ่งปลูกสร้างในอดีตที่มีความสำคัญและอยู่จนถึงยุคปัจจุบันแห่งนี้
มาบุรีรัมย์ ถ้าไม่ได้มาปราสาทพนมรุ้งเหมือนมาไม่ถึง ??? สำหรับผมถือว่าจริง
ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ของบุรีรัมย์ แต่ที่นี่เป็นมากกว่าจิตวิญญาณของชาวบุรีรัมย์
ปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องด้วยยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด
แต่ด้วยลักษณะของศิลปะในตัวปราสาทเองบ่งชี้ว่าเป็นศิลปะแบบบาปวน และมีศิลปะขอมแบบคลัง
ปะปนอยู่ด้วยกัน ความโดดเด่ยของปราสาทแห่งนี้ คือ รูปปั้นพญานาคห้าเศียร ศีรษะเกลี้ยง
ไม่มีเครื่องประดับเหมือนพญานาคแห่งอื่นในกลุ่มปราสาทขอม
และสระน้ำหักมุมประจำอยู่ทั้งสี่มุมในบริเวณปราสาท
ปราสาทเมืองต่ำอยู่ไม่ไกลจากปราสาทพนมรุ้ง ระยะทางประมาณ 7-8 กม.
คำว่า เมืองต่ำ ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้
เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นราบส่วนปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนเชิงเขา
ซึ่งทั้งปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้งอยู่ไม่ห่างกันมาก
สระน้ำระเบียงคด สระน้ำ 4 สระ ล้อมรอบระเบียงคดมีลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L)
ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ ขอบสระด้านบนแกะสลักด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาค
ที่มุมสระสลักเป็นนาค 5 เศียร สระน้ำทั้ง 4 สระนี้ ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
กลุ่มปราสาทอิฐ เป็นอาคารสำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงกลางของตัวปราสาทเมืองต่ำ
ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพและประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้าประกอบด้วยปราสาท อิฐ 5 องค์
ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันองค์ปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์
และแถวหลัง 2 องค์ กลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์นี้แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ
ศูนย์กลางจักรวาลปราสาทประธาน ส่วนตรงกลางคือส่วนปรางค์ประธานซึ่งได้ปรักหักพังเหลือเพียงฐาน
ปราสาทประกอบอีก 4 หลังเป็นปราสาทอิฐ ปัจจุบันได้รับการบูรณะในสภาพสมบูรณ์
และมีหน้าบันด้านหน้าอยู่ครบ
ยุคอดีตส่งต่อสู่ยุคปัจจุบัน
โดยมี “โบราณสถาน/ปราสาท” เป็นต้นแบบ
และมี “ช่วงเวลา” เป็นตัวส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
ยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน บุรีรัมย์ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ และเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยว
มาเที่ยวเป็นลำดับต้นๆของเมืองไทยด้วย ไม่ใช่แค่มาดูปราสาทที่ขึ้นชื่อ
แต่บุรีรัมย์ยุคปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีสถานที่เที่ยวใหม่ๆ
ที่แปลงมาจากยุคเก่า มีสนามฟุตบอลที่มีต้นแบบจากปราสาท
และเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่า เมืองแห่งกีฬา
รีวิวบุรีรัมย์ เมืองแห่งกีฬาและความสุข
Buriram Castle
Community Mall แห่งแรกของบุรีรัมย์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณด้านหลังของสนามฟุตบอล
ด้านในมีทั้งที่กิน ที่ช็อป ที่นั่งชิวๆยามเย็น ครบวงจรเพียงแค่มาที่นี่ที่เดียวครับ
ที่นี่ผสานโลก 2 ยุค ได้อย่างลงตัวที่สุด ความงดงามของอารยธรรมขอมในอดีต
ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับโลกไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ด้วย มาตรฐานที่เป็นสากล
มีปราสาทพนมรุ้งจำลอง เป็นจุด landmark
และด้านข้างมีสวนศิวลึงค์จำลองขนาดใหญ่ ที่ต้นแบบมาจากศิวลึงค์
ที่อยู่ด้านในของปราสาทพนมรุ้ง ที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น
และไม่ทิ้งกลิ่นอายการเป็นเมืองแห่งกีฬา โดยมีถ้วยฟุตบอล มาตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทพนมรุ้งจำลอง
ให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้ถ่ายรูปคู่กับถ้วยใบนี้Thunder Castle สนามฟุตบอล i-Mobile Stadium
สนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานระดับโลกแห่งหนึ่งในประเทศไทย สามารถจุผู้ชมได้ถึง 32,600 คน
ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และฟีฟ่าได้ทำการบันทึกว่าเป็นสนามที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 265 วัน
ในรอบ 1 ปี จะมีการแข่งขันไม่น้อยกว่า 30 นัด
ถือเป็นสนามที่ได้มาตรฐานฟีฟ่า และเป็นไอคอนของบุรีรัมย์ ที่คนรู้จักบุรีรัมย์
แล้วต้องรู้จักสนามเหย้าของทีมบุรีรัม ยูไนเต็ด i-Mobile Stadium แห่งนี้
มากพอๆกับคนรู้จักบุรีรัมย์เพราะรู้จักปราสาทพนมรุ้งเช่นกัน
หลายคนมองว่า อดีตกับปัจจุบัน ไม่มีทางอยู่ด้วยกัน ไม่มีทางเห็นพร้อมกันได้
แต่ที่บุรีรัมย์ คุณสามารถเห็นและสัมผัสได้
เมื่ออดีตและปัจจุบันอยู่ด้วยกัน
ประวัติและที่มาของสถานที่เหล่านี้ในอดีต จึงทำให้เกิดภาพลักษณ์ในปัจจุบันให้พบเห็น
“บุรีรัมย์ เมืองปราสาท 2 ยุค ที่ห้ามพลาด”
และหากต้องการข้อมูลของบุรีรัมย์เพิ่มเติม
Qr code ของ App Go2Buriram และ Buriram Magic สามารถช่วยเพื่อนๆได้
ใครมีคำถามสงสัยตรงไหน สามารถสอบถามได้ทาง blog รีวิวนี้
หรือในเพจของผมก็ได้ http://www.facebook.com/Nejuphoto
ขอบคุณทุกท่านที่ตามอ่านกระทู้รีวิวนี้จนจบ… ^^